ลักษณะดินในพื้นที่จังหวัดนครพนม

1.  สภาพธรณีสัณฐาน

                1.1  สภาพธรณีสัณฐานของจังหวัดนครพนม  แบ่งออกได้ดังนี้

                       (1)  สันดินริมน้ำเก่า  เป็นบริเวณสันดินริมน้ำที่มีน้ำท่วมถึงในอดีตและปัจจุบันเกิดเป็นแนวแคบ ๆ เกิดตามริมฝั่งน้ำโขงและลำห้วยใหญ่ต่าง ๆ เช่น  ลำน้ำสงคราม  ลำน้ำก่ำ  และลำน้ำอูน  เป็นต้น

                       (2)  ที่ราบน้ำท่วมถึง เป็นที่ราบลุ่มหลังสันดินริมน้ำ บางแห่งพบตามบริเวณใกล้ๆ กับหนองน้ำ  หนองน้ำอาจเกิดเป็นร่องน้ำหรือบึงโค้งเก่าเกิดจากการเปลี่ยนทิศทางของลำน้ำ  หรืออาจเป็นผลจากการหยุบตัวของดิน

                1.2  สภาพลานตะพักลำน้ำ  บริเวณที่เป็นลานตะพักลำน้ำมีสภาพพื้นที่อยู่สูงกว่าที่ราบน้ำท่วมขึ้นมา  พบแบ่งออกเป็น  3  ระดับ  คือ  ลานตะพักระดับต่ำ  ลานตะพักระดับกลาง  บานตะพักระดับสูง  มีสภาพพื้นที่ราบเรียบ  เกือบราบเรียบ  เป็นลูกคลื่นลอนลาดถึงลูกคลื่นลอนชัน  ดินเกิดจากตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมไว้ในอดีตกาล  ตอนบนมีเนื้อดินเป็นทรายหรือดินร่วนปนทรายและเหนียวขึ้นตามความลึก  อาจมีชั้นศิลาแลงปะปนอยู่ในบางพื้นที่

                1.3  สภาพพื้นที่เป็นภูเขาและที่ลานเชิงเขา  พื้นที่ไม่มากนัก  ตอนเหนือในท้องที่อำเภอบ้านแพงมีความสูงจากระดับน้ำทะเล  200 – 400  เมตร  มีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนลึก

2.  วัตถุต้นกำเนิดดิน  แบ่งออกได้  ดังนี้

                ดินที่เกิดจากน้ำพัดพามาทับถม  แบ่งออกเป็น

                       (1)  ดินเกิดจากตะกอนที่น้ำพัดพามาทับทมใหม่และค่อนข้างใหญ่  ลักษณะของตะกอนเป็นดินทราย  ดินทรายแป้ง  ดินร่วนเหนียวปนทรายแห้ง  ดินเหนียวปนทรายแป้งและดินเหนียวทับถมอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง  และลำห้วยใหญ่ไม่ห่างไกลจากแม่น้ำและลำห้วยมากนัก  ใช้ประโยชน์เป็นที่อาศัย  ทำสวนผลไม้  ทำนา  ปลูกพืชผักสวนครัวและพืชไร่

                       (2)  ดินเกิดจากตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมในยุคก่อน  เป็นตะกอนที่ลำน้ำพัดพามาทับถมมานานแล้วในอดีตกาล  พบเห็นบริเวณส่วนใหญ่ในลาดตะพักลำน้ำระดับต่ำและระดับกลาง  สภาพพื้นที่ราบเรียบใช้ในการทำนาและปลูกพืชไร่ ไม้ผล ป่าไม้ธรรมชาติ ในบริเวณพื้นที่ค่อนข้างราบเรียบเป็นลูกคลื่นลอนลึกตามลำดับ

                       (3)  ดินที่เกิดจากหินชนิดต่าง ๆ   สลายตัวอยู่กับที่และเคลื่อนย้ายไปบริเวณใกล้ ๆ  ได้แก่ หินทราย  หินทรายแป้ง  หินดินเหนียว  และหินทรายปนกรวด  เป็นต้น  สลายในเนื้อดินหยาบ  เนื้อทรายแป้ง  และเนื้อดินเหนียวตามแต่ชนิดของหินที่สลาย

3.  เนื้อที่ดินในจังหวัดนครพนม

                จังหวัดนครพนม  มีเนื้อที่ดินทั้งหมด 3,464,061 ไร่  แบ่งออกได้ดังนี้

                -  พื้นที่ภูเขา                                                          88,476   ไร่

                -  พื้นที่อยู่อาศัย                                                    55,526   ไร่

                -  พื้นที่น้ำ                                                         121,899     ไร่

                -  พื้นที่หินโผล่                                                         815    ไร่

                -  พื้นที่สันริมน้ำ                                             127,815      ไร่

                -  ดินดอน  แยกออกเป็น   

                                -  ดินลูกรัง                                     1,046,881     ไร่ 

                                -  ดินทราย                                             16,702   ไร่

                                -  ดินร่วน                                          833,232     ไร่

                                -  ดินตื้น                                                24,220   ไร่

                -  ดินที่ราบต่ำ  (ทำนา)  แยกออกเป็น

                                -  ดินลูกรัง                                      357,439      ไร่

                                -  ดินทราย                                             93,139   ไร่

                                -  ดินร่วน                                         483,883      ไร่

                                -  ดินเหนียว                                     531,300      ไร่

(หมายเหตุ) :  พื้นที่ดินคำนวณจากแผนที่ดิน  จะมีความแตกต่างกับพื้นที่การปกครองเล็กน้อย